5 อาชีพ ที่เสี่ยงอายุสั้น ยิ่งทำ ยิ่งเสี่ยง - ดร.นิค dr.nick สุวดี พันธุ์พานิช dr.suwadee

5 อาชีพ ที่เสี่ยงอายุสั้น ยิ่งทำ ยิ่งเสี่ยง

“งาน” หรือ “อาชีพ”
เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมากสำหรับสังคมโลก
เพราะทุกคนต่างก็ทำมัน เพื่อให้ได้ค่าตอบแทน
และค่าตอบแทนนั้นจะนำมาซึ่งสิ่งที่ใช้ดำรงชีพและชีวิตนานัปการ

แน่นอนว่าอาชีพต่างก็มีหลากหลายสาขาแตกต่างกันไป
บางคนก็เลือกได้ ในขณะที่บางคนก็เลือกไม่ได้
โดยบทความจาก Business insider ได้ทำ poll การสำรวจ
เกี่ยวกับอาชีพที่มีความเครียดสูง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพเอาไว้
5 อาชีพนั้นจะมีอาชีพอะไรบ้าง และมันมีสาเหตุจากอะไร
เราลองไปฟังและศึกษาพร้อมๆ กันค่ะ

1 ทันตแพทย์

มีงานวิจัยจากทางเว็บไซต์ OralHealthGroup
ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานที่เกี่ยวข้องกับงานทัตกรรมและทันตแพทย์
เปิดเผยว่าในสหรัฐอเมริกา นักเรียนทันตแพทย์มีอัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ย
สูงกว่านักเรียนธรรมดาทั่วไป 2-3 เท่า
อีกทั้งยังมีความดันโลหิตที่สืบเนื่องจากความเครียดเพิ่มเป็น 25% จากคนทั่วไปด้วยเช่นกัน
ความเครียดเค้นนั้นส่งผลมาจนถึงการทำงาน
โดยแบ่งสาเหตุออกมาได้เป็นดังนี้ค่ะ คือ

1 ทำงานในห้องที่แคบ
โดยส่วนใหญ่แล้วทันตแพทย์ในสหรัฐ
จะทำงานในตึกอาคาร ซึ่งมีพื้นที่สำนักงานไม่กว้างนัก
และในอาคารที่แคบอยู่แล้ว ก็ยังมีการแบ่งโซนในการทำฟัน
ที่คับแคบลงไปอีก ซึ่งการศึกษาพบว่ามันทำให้ทันตแพทย์เกิดความเครียด
รู้สึกอึดอัด และคล้ายกับว่าต้องตัดขาดจากโลกภายนอก
และต้องรับผิดชอบความเครียดเพียงลำพัง

2 ไม่เจอแสงแดด
สืบเนื่องจากการทำงานในห้องที่แคบอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน
ทำให้ทันตแพทย์เจอแสงแดดน้อยมาก
ซึ่งทำให้โอกาสการได้รับวิตามิน D น้อยกว่าคนปกติทั่วไป
โดยวิตามิน D นี้เองที่เป็นส่วนในการกระตุ้นฮอร์โมนต่างๆ
ทั้งทำให้นอนหลับดี ภูมิคุ้มกันแข็งแรง
เมื่อได้รับวิตามินเหล่านี้ในปริมาณที่น้อยมากๆ อย่างต่อเนื่อง
จึงทำให้ส่งผลต่อสุขภาพและความเครียดโดยตรง

3 กดดันกับระยะเวลา
ทันตแพทย์สำหรับคนไทยดูเป็นแพทย์ที่สบายๆ
แต่จริงๆ แล้วกลับมีจำนวนคนไข้ที่อัดแน่นเป็นอย่างมากในแต่ละวัน
โดยเฉพาะในต่างประเทศ
นั่นจึงเป็นสาเหตุให้คนไข้แต่ละคน มีเวลาในการรักษาที่พอดิบพอดี
ห้ามเกินเวลาหลังจากที่นัดไว้ เพราะมีคนไข้อื่นๆ รอต่อ
การทำงานกับเวลาที่กดดัน อีกทั้งยังต้องรักษาให้ตรงจุด
ทำให้เกิดความเครียดและความกดดันตามมา

นอกเหนือไปจากนี้ ทันตแพทย์โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา
หรือในต่างประเทศต้องกังวลกับเคสของคนไข้เป็น 2-3 เท่า
เพราะในบ้านเขาสามารถเกิดการฟ้องร้องกันได้ หากรักษาไม่ถูกใจ
หรือรักษาไม่ได้ตรงตามมาตรฐานที่ตั้งเอาไว้
ไหนจะยังมีเรื่องของค่าเล่าเรียนที่แพงมาก
และการต้องชดใช้เงินค่าเรียนที่ขอกู้ไปหลังเรียนจบด้วย
ซึ่งเรื่องเหล่านี้เองที่ส่งผลให้อาชีพ “ทันตแพทย์” กลายเป็นอาชีพ
ที่เครียดที่สุดในสหรัฐอเมริกาเลยค่ะ

2 พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

“แอร์โฮสเตส” หรือ “สจ๊วต”
ต่างก็เป็นงานในฝันของใครหลายคนเลยใช่ไหมคะ?
แต่ทราบกันหรือไม่ ว่าจริงๆ แล้วอาชีพ Flight attendant
เป็นอาชีพที่นอกจากจะทั้งเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตแล้ว
ก็ยังทำลายสุขภาพมากอีกด้วย
หลายคนที่ทำอาชีพนี้จึงไม่สามารถทำได้นาน
และทำได้ถึงแค่ ณ จุดๆ หนึ่งเท่านั้นก็ต้องขอ Say good bye
สาเหตุนั้นเป็นเพราะอะไร และทำไมจึงทำให้อาชีพนี้น่าเป็นห่วงขนาดนั้น
เรามาฟังไปพร้อมๆ กันค่ะ

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard เผยนะคะว่า
คนที่ทำอาชีพเป็น Flight attendant นั้นมีโอกาสที่จะเกิดโรคมะเร็ง
โดยเฉพาะมะเร็งผิวหนังมากกว่าคนปกติทั่วไป
นั่นก็เป็นเพราะว่า การขึ้นไปอยู่บนเครื่องบินทำให้ต้องเข้าใกล้
รังสีต่างๆ เพิ่มมากกว่าคนปกติทั่วไปหลายเท่า
โดยรังสีที่ว่านั้นมีทั้งรังสีคอสมิก ซึ่งเป็นรังสีที่อยู่นอกโลก
แต่ก็ยังมีผลส่งมาถึงโลกเราอยู่ดี และในบางครั้งเราจะเรียกมันว่า เปลวจากดวงอาทิตย์
ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตเข้าทำร้ายเซลล์ผิวได้โดยตรง
อีกทั้งยังแรงกว่าการอยู่บนพื้นดินมาก เพราะไม่มีอะไรป้องกันได้เลย
จึงทำให้คนที่ทำอาชีพนี้เสี่ยงจะเป็นโรคมะเร็งผิวหนังไปโดยปริยาย

อีกทั้งอาชีพ Flight attendant ยังต้องให้ความสำคัญ
กับเรื่องแรงดันของเลือดมากเป็นพิเศษ
เนื่องจากต้องขึ้นไปอยู่ในที่แรงกดอากาศต่ำ
จึงทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดทำงานได้ไม่เป็นปกติ
ที่หากปล่อยไว้นานๆ จะส่งผลต่อโรคหัวใจได้ในเวลาต่อมา

ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะอาชีพนี้ยังต้องต่อสู้แข่งขัน
กับความอ่อนเพลียที่ถาโถม การทำงานที่ไม่เป็นเวลา
และการข้ามโซนเวลาที่แปรปรวน อีกทั้งปัญหาเรื่องผิวหนัง
ที่แห้งผากกว่าคนปกติทั่วไป เนื่องจากการอยู่บนเครื่องบิน
ที่สูงเป็นเวลานาน ทำให้มวลอากาศและความชื้นน้อยกว่าปกติ
เนื่องจากแรงโน้มถ่วงได้ดูดโมเลกุลอากาศหนักไว้ข้างล่างจนหมด
ทำให้ด้านบนมีแก๊สอยู่น้อย การชนของโมเลกุลจึงน้อยตาม
ทำให้อากาศค่อนข้างแห้ง ไม่มีความชื้น และทำให้เป็นปัญหาหลายด้านตามมา

3 วิสัญญีแพทย์

การวิจัยในต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ได้รายงานว่า
วิสัญญีแพทย์ เป็นอีกหนึ่งสาขาอาชีพ ที่มีความเครียดสูงอย่างที่หลายคนไม่คาดคิด
เนื่องจากวิสัญญีแพทย์ จะเป็นด่านหน้าด่านแรก
ในการพบปะพูดคุยกับคนไข้ก่อนผ่าตัด
และยังต้องรับแรงกดดันจากการคำนวณตัวยา
พร้อมทั้งปริมาณการให้ยาที่เหมาะสมอีกด้วย

จากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้ยาสลบนี้เอง
ที่ทำให้วิสัญญีแพทย์เกิดความเครียด
เนื่องจากการผสมยาสลบ มีส่วนประกอบของตัวยาชนิดหนึ่งคือ
คือ “โพแทสเซียม”
ที่เป็นอันตรายถ้าหากให้ในปริมาณที่มากเกินไป

โดยตัว “โพแทสเซียม” หากให้คนไข้ในปริมาณที่พอเหมาะ
จะมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายคลายตัวลง และรักษาสมดุลน้ำ
รวมถึงความดันโลหิตให้อยู่ระดับที่ปกติ
แต่ถ้าหากว่าวิสัญญีแพทย์เกิดการคำนวณผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว
จนเผลอให้ปริมาณโพแทสเซียมที่มากเกินความจำเป็นต่อร่างกาย
โพแทสเซียมจะออกฤทธิ์เกินขนาด
และทำให้ผู้ป่วยตายได้ในทันที

เช่นเดียวกับตัวยา “sodium pentothal (โซเดียมเพนโททาล)” ที่ใช้อย่างแพร่หลายในสหรัฐ
แต่ได้มีงานวิจัยยืนยันว่า การใช้ยาตัวนี้ผสมลงในยาสลบ
มีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะทำให้ผู้ป่วยไม่ฟื้นคืนสติขึ้นมาอีกเลย
ปัจจุบันจึงไม่มีการใช้ยาตัวดังกล่าวนี้ในสหรัฐอีกแล้ว
และเปลี่ยนมาใช้ตัวยา “Propofol (โปรโพฟอล)” แทน
ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความรับผิดชอบด่านหน้า ที่จะต้องทำให้ได้แม่นยำ
และห้ามมีข้อผิดพลาดเป็นอันขาด

นอกจากนี้วิสัญญีแพทย์ยังต้องคำนึงถึงอาการ paralyse
หรือการเป็นอัมพาตของผู้ป่วยชั่วขณะ
แต่ในทางเดียวกันกลับยังมีผู้ป่วยบางคนที่มีสติครบถ้วน
เพียงแต่ไม่อาจที่จะขยับตัวได้ ซึ่งเกิดขึ้นจริงในอเมริกา
ที่อาจเสี่ยงต่อการฟ้องร้องได้อีกด้วย

4 รังสีแพทย์

รังสีแพทย์ หรือ หมอเอกซเรย์
หน้าที่โดยส่วนใหญ่คือการวินิจฉัยโรคผ่านทางการเอกซเรย์
ที่จะออกมาเป็นผลฟิล์ม เพื่อให้เห็นส่วนของอวัยวะต่างๆ ได้อย่างชัดเจน
ดูๆ ไปแล้วแพทย์สาขานี้ก็ไม่น่าจะมีอะไรเครียด
หรือเสี่ยงที่ทำให้อายุสั้นได้เลยใช่ไหมคะ
แต่อะไรเป็นปัจจัยที่ส่งผลขนาดนั้น นิคจะค่อยๆ เล่าให้ฟังค่ะ

มีงานวิจัยเปิดเผยว่า รังสีแพทย์ เป็นแพทย์ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายค่อนข้างน้อย
เนื่องจากต้องอาศัยการวิเคราะห์อยู่ในห้องเสียส่วนใหญ่
ซึ่งจะต้องนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ
โดยการนั่งเป็นเวลานานส่งผลต่อการเป็นโรคหัวใจ
เนื่องจากทำให้เส้นเลือดเคลื่อนไหวช้าลง
การเผาผลาญน้อยลง เป็นผลให้แรงดันเลือดก็สูบฉีดไปที่หัวใจอย่างไม่เต็มที่
ซึ่งเพิ่มอัตราความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจวาย และเส้นเลือดในสมองถึง 147%

อีกทั้งยังไม่พอ เนื่องจากรังสีแพทย์ยังต้องอยู่ในห้องที่ไฟสลัวตลอดเวลา
จึงทำให้ต้องใช้สายตามากผิดปกติ
โดยงานวิจัยก็ชี้มาแล้วว่า การที่รังสีแพทย์ต้องจ้องแผ่นฟิล์มที่มีแสงจ้าอยู่ตลอด
ทำให้มีอาการตาแห้ง ตาล้าได้มากกว่าคนปกติทั่วไป
ซึ่งจากความตึงเครียดบริเวณกล้ามเนื้อตานี้เอง
มีส่วนทำให้ฮอร์โมนความเครียดหลั่งเพิ่มอย่างไม่รู้ตัวด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้รังสีแพทย์ยังต้องเผชิญปัญหากับคนไข้
และจำนวนเคสที่ท่วมท้น ทำให้ไม่มีเวลาได้พักผ่อน
ส่งเสริมให้การขยับร่างกายจากที่น้อยอยู่แล้ว ก็ยิ่งน้อยเข้าไปอีก
นำมาซึ่งโรคต่างๆ ให้ตามมาอีกมากมายเลยทีเดียว

5 ศัลยแพทย์

มาถึงอาชีพสุดท้าย คือ แพทย์ผ่าตัดนั่นเองค่ะ
เว็บไซต์ MedicalNewsToday ได้เปิดเผยนะคะว่า
แพทย์ผ่าตัดในสหรัฐฯ มีการจบชีวิตไปไม่น้อยกว่า 501 เคสด้วยกัน
ซึ่งจากการสำรวจก็พบด้วยว่า 84% ของแพทย์ผ่าตัดทั่วสหรัฐอเมริกา
มีอาการป่วยเป็นโรคทางสภาพจิตใจกันอย่างสาหัส
โดยส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตและการทำงานค่ะ

โดยสาเหตุแรกมาจากชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและเข้มข้นกว่าแพทย์อื่น
ซึ่งอย่างที่ทุกคนทราบกันดีนะคะ ว่าแพทย์ผ่าตัดจำเป็นต้องผ่าตัด เปิดแผล และรักษาคนไข้
โดยจำเป็นต้องใช้สมาธิ และสติเป็นอย่างมากตลอดการทำงาน
ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็งและส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนคอติซอลอย่างต่อเนื่อง
ที่ช่วยทำให้ระดับความเครียดในร่างกายขึ้นสูงเกินกว่าคนทั่วไป

และปัญหาจากความเครียดนี้เอง
ส่งผลต่อการเป็น alcoholism ในหมู่แพทย์ผ่าตัดภายในสหรัฐฯ
ซึ่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็ได้เก็บสำรวจจากนักศึกษาแพทย์ผ่าตัดว่า
มี 6.8% จาก 7 ที่ยังคงเสพติดแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในตอนที่เรียน
และหลังจากที่จบออกไปทำงานแล้วก็ตาม
ทำให้ร่างกายและภาวะทางอารมณ์ของคนเป็นแพทย์ผ่าตัดนั้นไม่ค่อยสู้ดีนัก

รวมไปถึงปัญหาการหย่าร้าง ที่มักจะตามมาติดๆ กับคนเป็นศัลยแพทย์
ซึ่งพบอัตราการหย่ามากถึง 33%
ที่มักจะมาจากการทำงานไม่ตรงเวลา และงานที่ยุ่งมากจนแทบไม่มีเวลาได้หยุดพัก

ไม่ว่าจะการทำงานไม่เป็นเวลาก็ดี การดื่มแอลกอฮอร์แก้เครียดก็ดี
การเพ่งสมาธิโฟกัสช่วยชีวิตที่แขวนบนความเป็นความตายของคนไข้ก็ดี
ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้ศัลยแพทย์ กลายเป็นแพทย์อีกหนึ่งสาขาเบอร์ต้นๆ
ที่เครียดและเสี่ยงอายุสั้นในโผนี้ไปโดยปริยายเลยค่ะ

อย่างไรก็ดี ทุกอาชีพที่นำมาเล่าให้ฟังนี้
ต่างก็เปี่ยมไปด้วยความรับผิดชอบ และต้องเอาชีวิตตัวเองเข้าเสี่ยงทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็นแพทย์สาขาใดก็ตาม หรือแม้แต่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
จึงไม่แปลกที่ความเครียดจะสะสม และทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าทางร่างกายตามมา

นิคจึงคิดว่า อาชีพก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราเลือกและรับเข้ามาในชีวิต
ดังนั้นในขั้นแรกเราควรจะดูแลสุขภาพเราให้ดี บริหารความเครียด และบริหารร่างกาย
ไปพร้อมๆ กับอาชีพที่เราต้องแบกรับและเจอในแต่ละวัน

ฟังทั้ง 5 อาชีพไปแล้วหลายคนอาจจะเข็ดจนไม่กล้าฝันจะเป็นอีกเลย
แต่สำหรับนิคแล้ว นิคต้องขอบคุณทุกๆ อาชีพที่เกิดขึ้นมาบนโลกนี้
เพราะต่างช่วยให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย และปลอดภัย
อีกทั้งยังช่วยชีวิตใครเอาไว้ได้หลายคนเลยค่ะ

แล้วทุกคนมีความเห็นกับเรื่องนี้ยังไงบ้าง ลองมาแชร์กันดูนะคะ

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest

ร้องเรียน - ร้องทุกข์