7 วิธีดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่แพทย์แนะนำ จำแล้วนำไปใช้ได้เลยทันที! - ดร.นิค dr.nick สุวดี พันธุ์พานิช dr.suwadee

7 วิธีดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่แพทย์แนะนำ จำแล้วนำไปใช้ได้เลยทันที!

ทราบกันมั้ยคะว่าในปี พ.ศ. 2576
ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับ Super Age Society
หรือในชื่อว่า “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด”
ซึ่งทาง สสส. ก็ได้เปิดเผยร่วมด้วยค่ะว่า
จะมีประชากรผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงมากถึง 3%
หรือราวๆ 4 แสนคนจากทั้งหมด 13 ล้านคนเลยทีเดียว

ในปัจจุบันกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง
ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ควรต้องได้รับความสนใจอยู่แล้ว
ทว่ากลับมีหลายหน่วยงาน
หรือแม้แต่ผู้ดูแลเองที่ยังไม่เข้าถึงวิธีการดูแลอย่างถูกต้อง
โดยในวันนี้นิคมี 7 วิธีดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างง่าย
ที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ว่าให้ปฏิบัติตาม
เพื่อรักษาสุขอนามัยของผู้ป่วยติดเตียงได้ดีขึ้นนั่นเองค่ะ

7 ข้อที่ว่านี้จะมีอะไรบ้าง เราตามมาดูกันเลย

1 เปลี่ยนท่านอนทุก 2 ชั่วโมง

ทราบหรือไม่คะ ว่าการปล่อยให้ผู้ป่วยติดเตียง
นอนท่าเดิมเป็นระยะเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง
จะก่อให้เกิดปัญหา “แผลกดทับ”
ซึ่งส่วนมากจะเกิดขึ้นแนวที่มีปุ่มกระดูก
จนทำให้ผิวหนังเกิดอาการบวมแดง และนำไปสู่การเป็นแผลเรื้อรังได้

ทางแก้ที่ถูกต้อง คือ ผู้ดูแลต้องปรับเปลี่ยนท่านอน
ให้กับผู้ป่วยติดเตียงอยู่เสมอ
โดยไม่เน้นการนอนท่าได้ท่าหนึ่ง หรือตะแคงข้างเดียวจนบ่อย-นานเกินไป
หรือถ้าหากเริ่มมีระยะที่ผิวหนังเริ่มขึ้นรอยแดง
ให้รีบนำโลชั่นมาทาบำรุงเพื่อฟื้นฟูผิวหนัง
และควรลดการนอนกดทับในบริเวณนั้นไปก่อน

2 ขยับเขยื้อนร่างกายด้วยท่าบริหารพื้นฐานเป็นประจำ

ทางการแพทย์ยืนยันนะคะว่า
การให้ผู้ป่วยนอนเฉยๆ นิ่งๆ อยู่อย่างเดียวไม่ขยับเขยื้อน
หรือมีผู้มาช่วยบริหารกล้ามเนื้อ ข้อต่อต่างๆ
จะทำให้เกิดอาการข้อยึด เส้นยึดได้ไม่รู้ตัว
และจะส่งผลร้ายต่อผู้ป่วยติดเตียงเองในระยะเวลาต่อมาด้วยค่ะ

แพทย์จึงแนะนำว่า ผู้ดูแลควรจะให้ผู้ป่วยติดเตียง
ออกกำลังกายด้วยท่าบริหารการพื้นฐานสำหรับผู้ป่วยติดเตียงโดยเฉพาะเป็นประจำ
หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ต้องทำกายบริหารสัก 1 ครั้งต่อวัน
เพื่อหลีกเลี่ยงอาการยึดตามเส้นต่างๆ นั่นเองค่ะ

3 ไม่ป้อนอาหารทั้งนอน ป้องกันการติดคอ

อีกหนึ่งปัญหาที่หลายคนอาจไม่เคยทราบนะคะ
คือ ผู้ป่วยติดเตียงมักจะเผชิญปัญหาการกลืนอาหารที่ไม่สะดวก
หรือมีเศษอาหางคั่งค้างในทางเดินอาหารด้วย
ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการที่ผู้ดูแล ปรับท่านั่งในการรับประทานอาหารไม่เหมาะสม
อาจมีการป้อนคำที่ใหญ่ หรือบดไม่ละเอียด
จึงทำให้กลืนยากและติดค้างที่บริเวณลำคอ

ทางแก้จึงควรเริ่มจากการปรับท่านั่งให้เหมือนกับคนเวลาทานข้าวปกติ
ค่อยๆ ป้อนช้าๆ คำเล็กๆ และอาหารต้องไม่แข็งมากด้วยค่ะ
เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดอาการเศษอาหารค้างบริเวณลำคอไปในตัวด้วยนะคะ

4 ดูดเสมหะ ลดภาวะการสำลักจนปอดอักเสบ

สืบเนื่องจากข้อที่แล้ว ซึ่งต้องป้อนอาหารให้เล็กและช้า
จะช่วยลดอาการหลอดอาหารอุดตันของผู้ป่วยติดเตียงได้ ใช่ไหมคะ?
สิ่งต่อมาที่ต้องให้ความระมัดระวังคือ เรื่องของเสมหะ
ที่อาจมาจากการทานอาหาร จากตัวโรค และท่าทางที่จัดอย่างไม่เหมาะสมด้วย
จึงทำให้เกิดเสมหะในปริมาณมากกว่าคนทั่วไป
ถ้าหากไม่จัดการดูดเสมหะออก จะทำให้เกิดการสำลักได้
และนำไปสู่ภาวะปอดอักเสบด้วยค่ะ

ทางแก้คือ ผู้ดูแลต้องจัดการดูดเสมหะให้ผู้ป่วยติดเตียง
หรือทำการเข้าปรึกษาแพทย์อีกทาง
เพื่อที่แพทย์จะได้จ่ายยาให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยติดเตียงนั่นเองค่ะ

5 สังเกตอาหาร และท่าทางการนอน ป้องกันอาการท้องผูก

เราทราบกันดีอยู่แล้วเนอะ ว่าลำไส้เป็นสิ่งสำคัญ
ที่ช่วยเราขับของเสียออกมามากมาย
แต่กับผู้ป่วยติดเตียงจะเจอสภาวะที่ยากลำบากกว่าคนปกติทั่วไปค่ะ
แพทย์ชี้ว่า ผู้ป่วยติดเตียงขยับตัวได้น้อย
จึงทำให้เกิดภาวะท้องผูกได้บ่อยกว่าคนทั่วไปที่มีการขยับร่างกายตลอดเวลา

ทางแก้ในเรื่องนี้คือ ผู้ดูแลต้องคอยสังเกตนะคะ
ว่าอะไรที่อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะท้องผูกบ่อย
และคอยปรับเปลี่ยนท่าทาง เพิ่มการเคลื่อนไหว ให้ผู้ป่วยมีการขยับตัวมากขึ้น
ก็จะช่วยป้องกันภาวะท้องผูกในเบื้องต้นได้อย่างง่ายๆ แล้วค่ะ

6 เปลี่ยนผ้าอ้อม หรือ แพมเพิร์สบ่อยๆ ป้องกันผื่น!

การให้ผู้ป่วยติดเตียงใส่ผ้าอ้อม
หรือแพมเพิร์สตลอดเวลานั้น
สะดวกต่อคนดูแล เพราะไม่เลอะเทอะเวลาขับถ่าย
แต่ทราบหรือไม่คะ ว่ามันสามารถสร้างความไม่สบายตัว
ให้กับผู้ป่วยติดเตียงได้เช่นเดียวกัน

เนื่องจากการใส่ผ้าอ้อมหรือแพมเพิร์สติดต่อกันระยะเวลานานๆ
จะทำให้ผู้ป่วยเกิดผืนคัน หรือที่เรียกว่า “ผื่นผ้าอ้อม” นั่นเอง

ทางแก้ไขคือ หมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ เพื่อป้องกันการสะสมของแบคทีเรีย
หรืออาจมีช่วงระยะเวลาที่พักใส่ผ้าอ้อมบ้าง
เพื่อลดการระคายเคืองของผิวหนัง บริเวณที่ต้องอับชื้นตลอดเวลาค่ะ

7 เพิ่มสิทธิ์การคุ้มครองด้วยการสมัครบำนาญ 3,000 บาท

ล่าสุดเราได้ปรับนโยบายให้ตอบรับการแนวทางการเติบโตของประเทศ
ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในอนาคตข้างหน้านี้ค่ะ
โดยทำการเพิ่มเบี้ยจากเดิมเพียง 600-1,000 บาท
ให้สูงถึง 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นเบี้ยที่จะช่วยสร้างความยั่งยืน
และความมั่นคงให้กับคนหลายต่อ
ทั้งในแง่ของผู้สูงอายุที่ไม่ต้องเดือดร้อนเงินของลูก อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี
และในแง่ของคนรุ่นใหม่ ที่เหลือเงินไว้ตั้งตัวได้มากกว่าที่เคยอีกด้วยค่ะ

โดยนโยบายบำนาญ 3,000 บาทก็ไม่ได้จำกัดแค่ผู้สูงวัยเท่านั้น
เพราะผู้ป่วยติดเตียง ก็ได้อภิสิทธิ์ในการลงทะเบียนรับเงินบำนาญ 3,000 ได้ด้วยเช่นกัน!
อย่างที่นิคได้กล่าวไปแล้วนะคะ
ว่าปัจจุบันปัญหาผู้ป่วยติดเตียงยังไม่ได้รับการใส่ใจมากเท่าที่ควร
และหนึ่งในสิ่งที่ไม่เพียงพอก็คือ เงินสนับสนุนที่ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ
ซึ่งเงินบำนาญ 3,000 จะช่วยพัฒนาทั้งในแง่การใช้ชีวิต
และแบ่งเบาเครื่องไม้ เครื่องมือทางการแพทย์
ที่จำเป็นต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอนค่ะ

อย่างไรก็ดี
การดูแลผู้ป่วยติดเตียง แม้แต่ทางการแพทย์เองก็ยังบอกว่า
ค่อนข้างมีความซับซ้อนในแง่ของอารมณ์เป็นอย่างมาก
เนื่องจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วยเองและผู้ดูแลโดยตรง

ซึ่งถ้าหากต่างฝ่ายต่างพูดไม่ดีใส่กัน ไม่ค่อยสนทนา หรือหมั่นผ่อนคลายสุขภาพจิต
ก็จะทำให้เกิดภาวะเครียด หรือมีการซึมเศร้าแอบแฝงได้ด้วยค่ะ
ดังนั้นนิคอยากให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างจริงจัง
เพราะสุขภาพจิตที่ดี จะนำมาซึ่งสุขภาพกายที่แข็งแรงขึ้นด้วยอย่างแน่นอน
นิคขอส่งกำลังใจให้กับผู้ป่วยทุกคน และจะขอยืนเคียงข้างผู้ดูแลทุกๆ ท่านนะคะ
พรุ่งนี้ต้องดีกว่าแน่นอนค่ะ

อ้างอิง: https://healthathome.in.th/blog/caregiving-for-a-bedridden-ดูแลผู้ป่วยติดเตียง

https://www.tnnthailand.com/news/health/103902/

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest

ร้องเรียน - ร้องทุกข์