ให้มีการจำหน่ายจ่ายโอน ที่ดิน สปก. ในกรณีชราภาพได้
ในกรณีที่เกษตรกรย่างเข้าสู่วัยชราอายุมากแล้ว หมดกำลังวังชาที่จะทำมาหากินในที่ดิน และไม่มีความประสงค์จะทำการเกษตรต่อไป อีกทั้งไม่มีลูกหลานที่จะเป็นผู้สืบทอด หรือมีผู้สืบทอดแต่ไม่มีความประสงค์จะทำการเกษตรต่อไป ก็สามารถที่จะจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินให้กับ สปก. ได้ โดย สปก. จะพิจารณารับซื้อที่ดินในราคาที่เป็นธรรม เพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกรรายอื่นต่อไป
ที่ดิน คทช. ที่ดิน ภบท.5 ของกรมป่าไม้
ไทยสร้างไทย มีนโยบายจะให้โอนอำนาจจัดการในที่ดินประเภทดังกล่าวมาให้ สปก. เพื่อดำเนินการจัดสรรให้เกษตรกรทำกิน และเป็นที่อยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
การใช้ที่ดินเกษตรกรรมเพื่อสร้างรายได้ให้คนไทย
สร้างกติกาใหม่เพื่อให้สามารถนำที่ดิน สปก. มาใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ ควบคู่การปลูกป่า ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยจัดและพัฒนาที่ดินในรูปแบบ “นิคมเกษตรกรรม” โดยการวางผังแบ่งแปลง ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบน้ำเพื่อการเกษตร ถนน ไฟฟ้า ประปาชุมชน ฯลฯ และจัดแบ่งเป็นโซนต่าง ๆ
- โซนที่ดินทำกิน ขนาดแปลง 5 – 10 ไร่ สำหรับปลูกบ้านพัก ขุดบ่อเก็บกักน้ำ ให้เกษตรกรเข้ามาอยู่อาศัย สามารถทำการเกษตรผสมผสาน หรือไร่นาสวนผสม สร้างผลผลิตได้ทันที เกษตรกรที่ได้รับจัดสรรต้องผ่อนชำระการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคืนให้แก่รัฐ
- โซนพื้นที่แปลงใหญ่ หรือแปลงรวมของนิคมฯ เพื่อใช้ผลิตพืชอุตสาหกรรม ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มผลผลิต และผลผลิตที่ได้มาตรฐาน สามารถส่งขายได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ
- โซนส่วนกลางที่เป็นสถานที่รวบรวมผลผลิตแปรรูป และรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรที่ได้มาตรฐานตามที่ตกลงกัน เป็นสินค้าส่งออกสู่ตลาด เช่น ผักอินทรีย์ สมุนไพร อาหารเพื่อสุขภาพ ฯลฯ และเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ เช่น การถ่ายทอดความรู้ การประชุม เป็นต้น
- โซนปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ เป็นป่าเศรษฐกิจ ที่จะมีรายได้เสริมจากการขายคาร์บอนเครดิตด้วย
- โซนภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตร เช่น ที่พักรับรองการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติสุขภาพ (Health & Wellness Tourism) ที่ฟื้นฟูสุขภาพระยะยาว (Long Stay) หรือบ้านพักผู้สูงอายุ เป็นต้น
- การดำเนินงาน จะปรับการดำเนินงานจากรัฐ เป็น “บรรษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมการเกษตรแห่งชาติ”