ส่วนภาคอุตสาหกรรม แม้จะมีสินค้าภาคอุตสาหกรรมหลายอย่างของประเทศไทยที่ส่งออก แต่รายได้ที่แท้จริงที่ได้ก็เป็นเพียงแค่ค่าแรงงานในฐานะผู้รับจ้างผลิต หรือไม่ก็เป็นผู้รับประกอบชิ้นส่วนเป็นหลักเสียส่วนมาก ตัวเลขจำนวนเงินมูลค่าของสินค้าภาค อุตสาหกรรมที่ส่งออกดูเหมือนจะสูงมาก แต่รายได้ที่แท้จริงที่ไทยได้รับ คือ ค่าแรงงานประมาณร้อยละ 25 – 30 ของมูลค่าที่ส่งออกเท่านั้น
หากไทยขุดคลองไทยสำเร็จ เราก็จะถูกจัดเข้าไปอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจทางทะเลของจีนที่เรียกว่า Maritime Silk Road อย่างเต็มภาคภูมิ และจะเป็นเส้นทางเดินเรือเส้นใหม่ที่เป็นหลักของโลก ที่สายการเดินเรือของโลกจะมาใช้เส้นทางนี้ และจะทำให้ประเทศเรากลายเป็นได้เปรียบมาเลเซีย และสิงคโปร์ในทันที
ตอนนี้ท่าเรือแหลมฉบังอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก โดยเฉพาะมาเลเซียและสิงคโปร์ เนื่องจากท่าเรือแหลมฉบังเปรียบไปแล้วเหมือนอยู่สุดซอยและเป็นซอยตันด้วย ทำให้ไม่ค่อยมีสายการเดินเรือใหญ่ๆ วกมารับของที่ท่าเรือนี้ ในทวีปเอเชียปัจจุบันนี้มีเพียงแค่จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซียเท่านั้นที่มีสายการเดินเรือหลักของโลก 11 สาย หรือที่เรียกว่า Port Call มาใช้บริการ แต่ท่าเรือแหลมฉบังมีแค่ 5 Port Call มาใช้เท่านั้น ข้อเสียเปรียบของท่าเรือแหลมฉบังที่ทำให้สายการเดินเรือไม่มาแวะรับตู้สินค้า มีสาเหตุมาจากอำนาจการผลิตสินค้ามีน้อย อำนาจการพัฒนาและโครงข่ายด้าน Logistics ที่จะดึงเอาสินค้าจากทั้งภูมิภาคเข้ามาที่ท่าเรือมีน้อย และต้นทุนการผลิตสินค้าให้ถูกกว่าและมีความรวดเร็วยังสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้
คลองไทยมาจะทำหน้าที่เสริมท่าเรือแหลมฉบัง ตัวเลขประมาณการการใช้บริการท่าเรือซึ่งวัดด้วยจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนส่งมาที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพิ่มขึ้นจาก 11 ล้านตู้ ในปี 2566 เป็น 15 ล้านตู้ หลังจากขุดคลองไทยเสร็จ ในปี 2573 โดยในระยะเริ่มต้นจะเพิ่มเข้ามา 2 ล้านตู้ และหลังจากคลองไทยเดินหน้าได้เต็มพิกัด คาดว่าในปี 2593 จะมีสินค้าส่งผ่านแหลมฉบัง 18 ล้านตู้ ส่งผ่านคลองไทย 10 ล้านตู้ และส่งมาจากประเทศอื่นเพื่อถ่ายลำที่ไทย (Transshipment) อีก 12 ล้านตู้ รวมทั้งหมดทุกช่องทางจะมากกว่า 40 ล้านตู้