นโยบาย

แก้หนี้ – เติมทุน – ลดรายจ่าย – ขจัดอุปสรรค

กองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย กองทุนเครดิตประชาชน และกองทุนสร้างไทย
รายละเอียดนโยบาย

แก้หนี้

  • กองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย (แก้หนี้เสียที่เกิดจากโควิด – พักหนี้ 3 ปี/ ฟรีดอกเบี้ย 2 ปี) 
  • กองทุนเครดิตประชาชน (ล้างหนี้นอกระบบ – กู้ 5,000-50,000 บาท/ ดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน)

เติมทุน

จากตัวเลขประชากร 60 กว่าล้านคน มีคนกว่า 32 ล้านคน อยู่ในระบบเครดิตบูโร ที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เป็นหนี้เสียไปแล้วกว่าล้านล้านบาท และมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ จึงต้องไปพึ่งพาแหล่งเงินกู้หนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยทั้งโหดและแพง แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นเพียงมาตรการที่ฉาบฉวยเน้นไปที่ตัวผู้บริโภค ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยของประเทศ ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการประเภทนี้ ซึ่งอาจอยู่ในนิยามความหมายของ SMEs หรือไม่ก็ตาม ผู้ประกอบการเหล่านี้เฉพาะที่เป็น SMEs มีมากกว่า 3 ล้านราย และที่ไม่ใช่ SMEs อีกหลายล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบกับการทำมาหากินอย่างหนักหน่วง การฟื้นคืนเศรษฐกิจของประเทศจะกระทำได้ มีความจำเป็นจะต้องเร่งระดมความช่วยเหลือไปที่ผู้ประกอบการและคนทำมาหากินตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ ต้องทำให้เขาเหล่านั้นกลับมาทำงานได้ในทันที พรรคไทยสร้างไทย จึงมีนโยบายที่จะผลักดันมาตรการที่จะช่วยให้ประชาชนโดยเฉพาะคนตัวเล็ก สามารถเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำได้ง่าย ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน มีกระบวนการพิจารณาสินเชื่อที่ยืดหยุ่นกว่าระบบธนาคารตามปกติ โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มตัวแทนของผู้ประกอบการหลากหลายระดับและประเภทธุรกิจ ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและทิศทางในการบริหารจัดการและกระบวนการการปล่อยสินเชื่อ ด้วยการเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา ดังนี้

 

กองทุนที่ 1 – กองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย สำหรับครึ่งปีแรกในไตรมาสที่ 2/2565 อยู่ที่ 14.76 ล้านล้านบาท เป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่เกือบร้อยละ 88.2 โดยมีคนไทยไม่น้อยกว่า 32 ล้าน จำนวนหนี้ 13 ล้านล้านบาท ที่เป็นหนี้อยู่ในระบบเครดิตบูโร ซึ่งปรากฏว่ากลายเป็นหนี้เสียไปแล้วไม่น้อยกว่า 1.1 ล้านล้านบาท พรรคไทยสร้างไทย จึงมีนโยบายที่จะจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูหนี้เสียฯ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยที่มีหนี้เสีย ให้สามารถฟื้นกลับมาประกอบธุรกิจได้ตามปกติ โดยกองทุนฯ จะเข้าไปเจรจากับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ และช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการชำระดอกเบี้ยผิดนัดให้บางส่วน ซึ่งจะช่วยให้สถานะบัญชีลูกหนี้กลับมาเดินได้ตามปกติ สำหรับในรายที่มีปัญหาหนัก ก็จะทำการรับซื้อและรับโอนหนี้ รวมทั้งหลักประกัน ที่ค้างชำระอยู่กับสถาบันการเงินมาบริหารที่มูลค่ายุติธรรม และทำการปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป

มาตรการที่ 1 (พลิกฟื้น – ตั้งหลัก – ปลดล็อค)
  • ชำระดอกเบี้ยให้ลูกหนี้บางส่วน
  • เปลี่ยนสถานะลูกหนี้ที่เป็น NPL ให้กลับมาอยู่ในสถานะปกติ
  • เปลี่ยนจากรหัสบัญชี 021 ไปเป็น รหัสบัญชี 010
มาตรการที่ 2 (เดินหน้า – ดันธุรกิจ – ช่วยลูกจ้าง)
  • พักชำระหนี้ 1 ปี
  • เติมเงินสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง เข้าบัญชีธุรกิจ และบัญชีเงินเดือนของลูกจ้าง
  • ปรับเปลี่ยนตารางการชำระหนี้ใหม่ ขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอย่างน้อย 3 ปี ผ่อนชำระแบบ หน้าต่ำ-หลังสูง
  • ปรับกระบวนการปล่อยสินเชื่อ
กองทุนที่ 2 – กองทุนเครดิตประชาชน

เมื่อเราพูดถึงประชาชนคนตัวเล็กกับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ ก็ต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธนาคารและสถาบันการเงินในระบบปกติได้ เนื่องจากสาเหตุสำคัญอันเนื่องมาจากไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินเดือนผ่านระบบที่มีการจ้างงานเป็นเรื่องเป็นราว เช่น คนค้าคนขายที่ไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน ฟรีแลนช์ หรือคนที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นตํ่าที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินยอมรับ คนตัวเล็กที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้มีจำนวนมากกว่า 36 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ประมาณ 8 ล้านคน และเป็นผู้ไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ในรูปแบบที่ธนาคารและสถาบันการเงินยอมรับประมาณ 28 ล้านคน คนเหล่านี้หมดหนทางที่จะเข้าถึงเงินกู้ในระบบ และจำใจต้องกู้หนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยมหาโหด

พรรคไทยสร้างไทย มีนโยบายในการจัดตั้งกองทุนเครดิตประชาชนขึ้นมา เพื่อช่วยคนตัวเล็กกว่า 10 ล้านคน ล้างหนี้นอกระบบ เพื่อสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้เป็นที่พึ่งของประชาชนคนตัวเล็กที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบปกติของธนาคารหรือสถาบันการเงินได้ ช่วยให้คนตัวเล็กตั้งตัวได้ เป็นสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกันดอกเบี้ยตํ่า ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อเดือน วงเงินกู้ตั้งแต่ 5,000 บาท จนถึง 50,000 บาท เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่โดยรวมของประชาชนคนตัวเล็ก และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องมาจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทำให้สามารถลืมตาอ้าปากใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรี

กองทุนเครดิตประชาชนจะมีกระบวนการพิจารณาสินเชื่อที่แตกต่างจากระบบเดิมที่กระทำกันอยู่ในสถาบันการเงิน เปลี่ยนกรอบความคิดใหม่ในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อ การกำหนดวงเงินสินเชื่อจะใช้ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อแทนการใช้เอกสารหลักฐานพิสูจน์รายได้หรือการขอหลักทรัพย์คํ้าประกัน หรือการตรวจสอบประวัติของผู้กู้จากเครดิตบูโร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปลดล็อกระเบียบและหลักเกณฑ์ในปัจจุบันที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสินเชื่อของคนตัวเล็ก

กองทุนที่ 3 – กองทุนสร้างไทย

แหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน เพื่อผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดเข้าไม่ถึงแหล่งทุนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ซึ่งประกอบด้วย 5 กองทุนย่อย ได้แก่ กองทุน SMEs กองทุน Startup กองทุนวิสาหกิจชุมชน กองทุนการท่องเที่ยว และกองทุน Venture Capital

กองทุน SMEs

SMEs คือตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพราะประเทศเรามี SMEs อยู่กว่า 3 ล้านราย จ้างงานกว่า 13 ล้านคน สร้าง GDP กว่า 5.60 ล้านล้านบาท หรือ 34.6% ของ GDP รวม แต่มี SMEs ไม่ถึง 400,000 ราย ที่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ SMEs กลางลงล่างเข้าไม่ถึงแหล่งทุน เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจการบริการ ร้านอาหาร เราจึงจำเป็นต้องตั้งกองทุน SMEs เพื่อให้ SMEs ขนาดเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อฟื้นธุรกิจจากโควิดและสามารถต่อยอดธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้

กองทุน Start Up

เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่เก่งมีโอกาสตั้งตัวได้ หลังจากที่ทางพรรคได้มีนโยบายที่จะทำการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบการหาเลี้ยงชีพของประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการคนตัวเล็ก ซึ่งรวมถึงธุรกิจของคนตัวเล็กอย่างเช่น Startup ที่ทางพรรคตั้งใจจะให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสตั้งตัวเป็นเจ้าของธุรกิจด้วยความรู้ความสามารถที่ตนเองเป็นผู้คิดค้นขึ้นมา กองทุน Start Up มีวัตถุประสงค์เพื่อการนี้

กองทุนวิสาหกิจชุมชน

เพื่อให้เกษตรกร และลูกหลานได้รวมตัวกันในการประกอบธุรกิจจากผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ โดยการแปรรูปเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรกร

กองทุนการท่องเที่ยว

ที่มีเกี่ยวข้องหลายสิบล้านคนได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทั้งผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก ร้านอาหาร สถานบันเทิง จนไปถึงร้านนวดสปา

กองทุน Venture Capital (VC) หรือ กองทุนธุรกิจเงินร่วมลงทุน

เป็นแหล่งเงินทุนที่ทำหน้าที่สนับสนุนด้านการเงินให้แก่ธุรกิจ มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจ Startup ที่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ก้าวหน้า หรือธุรกิจที่ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ของ SMEs โดยส่วนรวม รูปแบบทั่วไปของการเข้าไปช่วยเหลือ VC จะเข้าไปร่วมลงทุนในกิจการ เป็นช่วงที่ธุรกิจเริ่มมีรายได้เข้ามาแล้ว และต้องการใช้เงินทุนในการปรับปรุงสินค้า/บริการ เพื่อต้องการขยายกิจการ ขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น หรือการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ โดยทั่วไป VC จะมีระยะเวลาลงทุนประมาณ 3-5 ปี นานสุดไม่เกิน 10 ปี โดยจะมีการลงเงินเป็นรอบๆ ตาม Stage ของธุรกิจ นอกจากการให้เงินลงทุนแล้ว VC ยังให้คำปรึกษาทางด้านการบริหารกิจการ เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว VC ภายใต้กองทุนนี้ไม่มีวัตถุประสงค์ในการเข้าครอบงำกิจการเพื่อยึดเป็นเจ้าของเหมือนดั่งเช่น VC อื่นๆ ทำกัน ถ้ากิจการเติบโตและขยายตัวได้ตามที่คาดหวัง VC ก็จะหาจังหวะที่เหมาะสมที่จะถอนตัว (Exit) เพื่อทำกำไรจากเงินลงทุน โดยวิธีการต่างๆ ที่ VC อาจเลือกเป็นทางออก ได้แก่ การขายหุ้นให้แก่กิจการขนาดใหญ่ที่มีความสนใจซื้อ การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือการควบรวมกับกิจการอื่นและมีการแลกหุ้นกัน เป็นต้น

ลดรายจ่าย

  • ปรับโครงสร้างค่าน้ำมัน/ค่าแก๊ส  กำหนดเพดานค่าการกลั่น ให้เป็นธรรมกับคนไทย 
  • ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า รื้อสัญญาทาส ค่าไฟต้องไม่เกิน 3.50 บาท 
  • ไม่เก็บภาษีคนตัวเล็กที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 300,000 บาท/ต่อปี หรือรายได้ไม่เกิน 40,000/ เดือน 
  • ไม่เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล SMEs ป็นเวลา 3 ปี 
  • ติด Solar House – เงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ 1% ผ่อนยาว 8 ปี ขายไฟให้รัฐได้ทุกเดือน

ขจัดอุปสรรค

  • พักการอนุมัติ/อนุญาต 1,400 ฉบับ เป็นเวลา 3-5 ปี เพื่อให้คนไทยลุกขึ้นมาทำมาหากินได้ทันที เช่น การขออนุญาต อย. (ไทยสร้างไทย เสนอกฎหมายเข้าสภาแล้ว)
  • รื้อระบบรัฐราชการและอำนาจนิยม ด้วยการสร้างระบบให้ประชาชนร้องเรียน มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการให้คะแนนการทำงาน และการบริการประชาชนของเจ้าหน้าที่ และใช้ในการประเมินการให้ความดีความชอบ รวมถึงการลงโทษ